ลัคนาคืออะไร? สำคัญไหม?

บางครั้งทุกท่านอาจจะเคยได้ยินคำว่าลัคนาจากอาจารย์หลายๆ ท่าน และบางครั้งคงสงสัยว่าลัคนาคืออะไร ราศีเกิดกับลัคนาเหมือนกันไหม แล้วมันสำคัญยังไง ในบทความชิ้นนี้ผมจะพยายามให้ง่ายและให้เห็นภาพมากที่สุดเพื่อให้คลายความสงสัยกันครับ

ลัคนาคืออะไร

ลัคนา คือ ตำแหน่งของขอบฟ้าด้านทิศตะวันออก หากลองจินตนาการถึงขอบฟ้า ตำแหน่งนี้ก็คือตำแหน่งพระอาทิตย์ขึ้นมาจากขอบฟ้านั้นเอง

Image result for sun rise

แล้วลัคนาตามหลักโหราศาสตร์ล่ะ คืออะไร ลองจินตนาการกันอีกซักเล็กน้อยว่าเราเห็นกลุ่มดาวทั้ง 12 ราศีอยู่บนท้องฟ้า คราวนี้ลองหันหน้าไปยังขอบฟ้าทางทิศตะวันออกอีกครั้ง กลุ่มดาวราศีใดก็ตามที่อยู่ตำแหน่งขอบฟ้า นั่นแหละคือลัคนาราศีของคุณ

ราศีเกิดกับลัคนาเหมือนกันไหม

ราศีเกิด ตามคำนิยามของผมเองก็คือ คุณเกิดในช่วงเวลาไหน (วันและเดือน) ตรงกับราศีใด คุณก็จะมีราศีเกิดนั้นๆ เช่น หากคุณเกิดในช่วงวันที่ 22 ธันวาคม ถึง 20 มกราคม คุณจะมีราศีเกิดอยู่ในราศีมังกร ซึ่งราศีเกิดนี้ได้จากการดูตำแหน่งของจุดวิษุวัต เทียบกับกลุ่มดาวบนท้องฟ้า (รายละเอียดของการแบ่งราศีตามวันที่)

แต่เนื่องจากลัคนาเราดูจากกลุ่มดาวบริเวณขอบฟ้า ดังนั้นจึงมีโอกาสที่ตำแหน่งของกลุ่มดาวจะไม่ตรงกัน เพราะว่าตำแหน่งนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เนื่องจากโลกของเราหมุนรอบตัวเองไปเรื่อยๆ ดังนั้นการจะหาลัคนาของตัวเองได้ จำเป็นจะต้องรู้เวลาเกิดด้วยเพื่อจะได้ลัคนาที่มีความถูกต้องมากยิ่งขึ้น

เรามาดูตัวอย่างกันนิดนึง ภาพด้านล่างจะเป็นกราฟดวงที่บางคนอาจจะเคยเห็นผ่านตามาบ้าง ด้านซ้ายจะเป็นทิศตะวันออก จุด A คือจุดลัคนา จุด ⊙ คือดวงอาทิตย์

กราฟนี้เป็นของคนที่เกิดวันที่ 10 มกราคม 2500 ซึ่งตามราศีเกิดจะอยู่ในราศีมังกร

ภาพแรกเป็นกราฟช่วงเวลา 06:00 น. จะเห็นได้ว่าตอนนี้ลัคนาจะอยู่ในราศีมังกร (♑)

ตำแหน่งลัคนา เวลา 6:00 น.

ภาพที่ 2 จะเป็นช่วงเวลา 10:00 น. จะพบว่าราศีนี้ได้ขยับจากราศีมังกรไปเป็นราศีมีนแล้ว (♓) (แต่ลัคนาอยู่ตำแหน่งเดิม)

ตำแหน่งลัคนา เวลา 10:00 น.

จะเห็นได้ว่า แม้จะเกิดวันเดียวกัน แต่เวลาต่างกัน ลัคนาก็กลายเป็นคนละราศีกันแล้ว เพราะฉะนั้นหากต้องการทราบลัคนาอย่างละเอียด ก็ควรที่จะทราบเวลาเกิดที่แน่นอนด้วยเช่นกัน

(บางคนอาจจะเคยไปดูดูวง หรือไปสะเดาะเคราะห์ แล้วจำเวลาเกิดไม่ได้ หากหมอดูเขาให้เขียนเวลาเกิดเป็น 06:00 ก็ให้แอบคิดได้เลยว่าลัคนากับราศีเกิดของท่านอาจจะเป็นราศีเดียวกัน)

แล้วมันสำคัญยังไง

สำหรับในทางโหราศาสตร์สำคัญมาก เนื่องจากเป็นจุดที่อธิบายถึงตัวตนของคุณเอง และส่วนใหญ่การดูดวงในทางโหราศาสตร์นั้น มักดูความสัมพันธ์ระหว่างจุด เช่น การทำมุมระหว่างลัคนากับดาวเสาร์ ตำแหน่งดาวกับราศีต่างๆ ซึ่งหากกำหนดจุดลัคนาไม่ถูกต้อง ความสัมพันธ์ต่างๆของดาวในดวงของคุณก็จะไม่ถูกต้องไปด้วย (แต่ไม่ต้องกังวลไป เพราะอาจารย์ทางโหราศาสตร์แต่ละท่านจะตรวจสอบลัคนาก่อนดูดวงทุกครั้ง เพื่อให้แน่ใจว่าท่านมีลัคนาที่ถูกต้องจริงๆ โดยเฉพาะคนที่เกิดคร่อมราศีทั้งหลาย)

แล้วสำหรับการดูไพ่ล่ะ จริงๆ ลัคนามีผลต่อการดูไพ่บ้างบางส่วน แต่ไม่ทั้งหมด หากเป็นการดูไพ่รายบุคคล หรือตัวต่อตัว ในความคิดผมนั้นแทบไม่ต้องใช้ลัคนาเลยก็ได้ แต่สำหรับการดูดวงรายเดือนตามราศีนั้น การใช้ลัคนาจะทำให้การดูดวงนั้นมีความเจาะจงไปในแต่ละคนมากยิ่งขึ้น ไม่ได้ครอบคลุมแค่วันที่เท่านั้น แต่เป็นลัคนาด้วย

ดังนั้นไม่ว่าท่านจะทราบลัคนาหรือไม่ ท่านก็ยังสามารถดูดวงโดยใช้ราศีเกิดได้อยู่ สำหรับการดูดวงด้วยไพ่ทาโร่ต์

หวังว่าบทความนี้จะทำให้ใครหลายๆคนเข้าในเรื่องลัคนากันมากขึ้นนะครับ

บทความที่เกี่ยวข้อง
  1. การหาลัคนาโดยประมาณ ตามหลักโหราศาสตร์ตะวันตก
  2. การหาลัคนาโดยละเอียด ตามหลักโหราศาสตร์ตะวันตก
  3. การหาลัคนาโดยประมาณ ตามหลักโหราศาสตร์ไทย

ทำไมหมอดูบางคนแบ่งราศีตามวันเกิดไม่เหมือนกัน

คนที่เข้ามาดูคลิปดูดวงของผมหลายๆ คนมักถามบ่อยๆว่า ทำไมการแบ่งวันที่ของผมนั้นไม่เหมือนกับอาจารย์ท่านอื่นๆ เลย บางท่านใช้ช่วงวันเกิดแบบหนึ่ง ส่วนอีกคนก็ใช้อีกช่วงหนึ่ง ทำให้คนมาดูแอบสับสนเล็กๆ ว่าสรุปแล้วเราอยู่ราศีใดกันแน่

สิ่งแรกที่อยากจะบอกก่อนคือ โหราศาสตร์นั้น ไม่ได้มีแต่ในไทยอย่างเดียว แต่มีใช้กันอยู่ทั่วโลก ที่เป็นที่รู้จักกันก็จะมี โหราศาสตร์ไทย และโหราศาสตร์ตะวันตก (อาจจะมีแบบอื่นๆอีก) ซึ่งทั้ง 2 ระบบนี้ ต่างมีวิธีดูและวิธีคำนวณที่แตกต่างกัน จึงส่งผลให้การแบ่งวันที่ตามราศีไม่เหมือนกัน ซึ่งในบทความนี้จะอธิบายว่า ทำไมการแบ่งวันที่ของอาจารย์แต่ละท่าน (หรือโหราศาสตร์แต่ละแบบ) ถึงแตกต่างกัน

ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณข้อมูลจ้าคุณ STL จาก pantip.com ที่อธิบายละเอียดมาก คนที่สนใจสามารถดูกระทู้ต้นฉบับได้ที่นี่

เอาล่ะ เข้าเรื่องกันดีกว่าครับ

หากคนที่เคยดูดวงตามวันเกิดจะพบว่า การแบ่งวันที่ที่เคยเห็นนั้นจะมีอยู่ 2 แบบคือ

ตัวอย่างราศีมังกร

    • แบบที่ 1 :  15 มกราคม – 14 กุมภาพันธ์ (ตามโหราศาสตร์ไทย)
    • แบบที่ 2 : 22 ธันวาคม-20 มกราคม (ตามโหราศาสตร์ตะวันตก)
แบบที่ 1

การแบ่งวันที่ตามแบบที่ 1 หรือตามโหราศาตร์ไทยเป็นการแบ่งโดยดูจากท้องฟ้าเป็นหลัก โดยดูจากกลุ่มดาวแต่ะราศีและดวงอาทิตย์ เมื่อไหร่ก็ตามที่ดวงอาทิตย์ย้ายตัวจากกลุ่มดาวหนึ่งมาอีกอัน ก็ถึอว่าเป็นการย้ายราศีแล้ว ซึ่งเมื่อดูเทียบจ้าท้องฟ้าและวันที่จะพบว่าใกล้เคียงกัน

ตัวอย่างของดวงอาทิตย์ที่กำลังย้ายเข้าราศีเมษ (ภาพของคุณ STL จาก pantip.com)

แบบที่ 2

การแบ่งแบบที่ 2 หรือการแบ่งตามโหราศาสตร์ตะวันตก จะไม่ได้สังเกตจากดวงอาทิตย์เทียบกับกลุ่มดาว แต่เป็นการใช้จุดอ้างอิงเทียบกับกลุ่มดาวแทน หลักการจะคล้ายกันคือเมื่อจุดนี้ย้ายเข้าสู่ราศีใดก็ถือว่าเป็นการย้ายเข้าราศีนั้นแล้ว

จุดอ้างอิงนั้นคือ จุด วิษุวัต หรือฝรั่งเรียกว่า จุด Equinox ซึ่งก็คือจุดตัดของเส้นผ่าศูนย์กลางฟ้ากับ เส้นสุริยวิถี

ตัวอย่างของจุด Equinox ที่กำลังย้ายเข้าราศีเมษ (ภาพของคุณ STL จาก pantip.com)

ดังนั้น เมื่อจุดอ้างอีกที่ใช้ต่างกัน การแบ่งวันที่ของโหราศาสตร์แต่ละแบบจึงไม่เหมือนกันนั่นเอง

ส่วนตัวผมเอง ผมจะใช้โหราศาสตร์แบบตะวันตกในการแบ่งราศี เนื่องจากผมใช้การพยากรณ์แบบไพ่ทาโร่ต์ หรือ ไพ่ยิปซี ซึ่งตามประวัติและแนวคิดของไพ่ได้ใช้โหราศาสตร์ตะวันตกในการสร้างไพ่มากพอสมควร จึงคิดว่าจะเหมาะสมกว่าในหลายๆเรื่องโดยเฉพาะเรื่องของการพยากรณ์ช่วงเวลา

หวังว่าบทความนี้ให้มอบความเข้าใจให้แก่ผู้ที่สงสัยได้นะครับ 🙂